(เครดิตรูปภาพ: Freepik)
คนมีรถต้องรู้ ทางหลวงในประเทศไทยมีอะไรบ้าง จะได้วางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น
ทุกครั้งที่ต้องออกเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ถนนแต่ละเส้นทางย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะทางหลวงที่หลายคนน่าจะพอคุ้นชื่อกันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าทางหลวงก็แยกออกมาได้อีกหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีความหมายเฉพาะตัว มาดูกันดีกว่าว่า ทางหลวงในประเทศไทยมีกี่ประเภท และมีความแตกต่างกันอย่างไร?
(เครดิตรูปภาพ: posttoday)
ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์)
เชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องเคยได้ยินหรือเคยขึ้นมอเตอร์เวย์กันมาแล้ว แต่รู้หรือเปล่าว่ามอเตอร์เวย์คืออะไรกันแน่?
ทางหลวงพิเศษ หรือ มอเตอร์เวย์ เป็นทางหลวงที่ช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านทางได้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ โดยจะมีการควบคุมจุดเข้าออกรถ และมีการเก็บค่าผ่านทางเพื่อเป็นค่าบริการ (ป้ายสีน้ำเงิน) ซึ่งรถแต่ละประเภทและจุดผ่านทางแต่ละด่านจะมีค่าผ่านทางที่แตกต่างกันออกไป โปรดตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนเดินทาง
(เครดิตรูปภาพ: wikiwand)
ทางหลวงแผ่นดิน
เรียกว่าเป็นถนนทางหลวงสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างภาค จังหวัด และอำเภอต่าง ๆ โดยจะมีเลขตั้งแต่ 1-4 หลักกำกับไว้บนป้ายเพื่อแบ่งหมวดหมู่เส้นทาง
- ทางหลวงที่มีหมายเลขตัวเดียว คือ ทางหลวงหลักที่สามารถเดินทางข้ามไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้โดยมีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพ ได้แก่ ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1), ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2), ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3), ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4)
- ทางหลวงที่มีหมายเลข 2 หลัก คือ เส้นทางสายประธานที่เชื่อมจากทางหลวงหลักเข้าไปสู่พื้นที่ในแต่ละจังหวัด
- ทางหลวงที่มีหมายเลข 3 หลัก คือ เส้นทางสายรองประธานที่เชื่อมต่อจากทางหลวงหลัก หรือเส้นทางสายประธาน เพื่อเข้าไปพื้นที่ย่อยในจังหวัดนั้น ๆ อีกที
- ทางหลวงที่มีหมายเลข 4 หลัก คือ เส้นทางในการเข้าสู่พื้นที่ย่อยในแต่ละอำเภอของจังหวัดนั้น ๆ
(เครดิตรูปภาพ: kaohoon)
ทางหลวงชนบท
เป็นทางหลวงที่นิยมใช้หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน ชื่อหมู่บ้าน หรือชื่อสถานที่ที่เป็นจุดสำคัญของพื้นที่นั้น ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการและจุดสิ้นสุดโครงการในเส้นทางนั้นมาตั้งเป็นชื่อถนน เช่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 314 – บ้านลาดกระบัง เป็นต้น ต่อมามีการเพิ่มรหัสสายทางเข้ามา เพื่อบอกว่าเส้นทางสายนั้น ๆ อยู่ในจังหวัดอะไร จะได้ไม่สับสนเส้นทาง ซึ่งรหัสสายทางจะประกอบไปด้วยตัวอักษรย่อของจังหวัด 2 ตัว และเลขทางหลวงชนบท 4 ตัว โดยมีความหมายดังนี้
- ตัวอักษรย่อ : จะใช้เพื่อสื่อถึงชื่อจังหวัดที่ตั้งของสายทางนั้น ๆ เช่น นบ. คือ ทางหลวงชนบทที่อยู่ในเขตนนทบุรี
- หมายเลข : หมายเลขตัวแรกจะบอกลักษณะการเชื่อมโยงของสายทางว่าจุดเริ่มต้นมาจากไหน เป็นยังไง โดยมีทั้งหมด 6 หมายเลข คือ
1 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีเลขตัวเดียว
2 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีเลข 2 หลัก
3 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีเลข 3 หลัก
4 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีเลข 4 หลัก
5 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงชนบทหรือทางหลวงท้องถิ่น
6 หมายถึง เริ่มต้นจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้าน วัด โรงเรียน
(เครดิตรูปภาพ: wikipedia)
ทางหลวงท้องถิ่น
ใครที่เดินทางออกต่างจังหวัดบ่อย ๆ น่าจะเคยเห็นป้ายข้างทางแบบนี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นป้ายเพื่อบอกรหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่น ประกอบไปด้วยตัวอักษร 3 ตัว และตัวเลข 5 ตัว เช่น สข. ถ 25-100 โดยตัวอักษร 2 ตัวแรกเป็นชื่อย่อของจังหวัด แปลว่า สข. = สงขลา และอักษรตัวที่ 3 จะเป็น ถ ทุกทางหลวงท้องถิ่น ส่วนตัวเลขอีก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นลำดับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ส่วนตัวเลขส่วนท้ายจะหมายถึงลำดับของสายทางหรือถนนที่ลงทะเบียนในเขตองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น
ดังนั้น รหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่น คือ สข. ถ 25-100 หมายถึง ทางหลวงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีเทศบาลตำบลนาทวีเป็นผู้รับผิดชอบ และลำดับสายทางที่ลงทะเบียนไว้คือ 100
(เครดิตรูปภาพ: wikiwand)
ทางหลวงสัมปทาน
แน่นอนว่าเป็นทางหลวงที่รัฐให้สิทธิ์เอกชนในการถือสัมปทาน มีระบบหมายเลขทางหลวงเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของทางหลวงสัมปทานนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร
หากรถในมือของคุณเป็นประเภทรถมือสอง ไม่ต้องคิดเยอะ ลงขายที่ Motorist ได้เลย การันตีราคาดีที่สุด ขายไม่เป็นไม่ต้องกลัว เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตั้งแต่ต้นจนจบการขาย ขายง่าย จบไว ไว้ใจ Motorist ได้เลย
รับสิทธิ์ประเมินราคารถฟรีวันนี้!
อ่านเพิ่มเติม: เตรียมเงินให้พร้อม! อัปเดตค่าผ่านทางยกระดับดอนเมือง 2565
ต้องการ ราคาประเมินรถ? สามารถติดต่อเราเพื่อรับการประเมินราคารถฟรี ภายใน 24 ชั่วโมงได้เลย…