(เครดิตรูปภาพ: Freepik)
ซื้อรถ ไม่ใช่มีแค่ค่าซื้อรถแล้วจบ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งก่อนและหลังซื้อรถที่ต้องรู้ จะได้วางแผนการเงินได้อย่างไม่ติดขัด
การตัดสินใจซื้อรถสักคันว่ายากแล้ว วางแผนเรื่องเงินก่อนซื้อรถอาจจะยากกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่คุณต้องดูแลและรับผิดชอบเยอะมาก หากคุณไม่รู้หรือไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน อาจทำให้เจอปัญหาผ่อนต่อไม่ไหว จนต้องขายรถทิ้งไปในที่สุด แต่ถ้าคุณวางแผนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาอย่างดี รถคู่ใจก็จะอยู่กับคุณได้อีกนาน
1. เงินดาวน์
ก่อนตัดสินใจซื้อรถสักคัน จะต้องประเมินค่าใช้จ่ายและกำลังทรัพย์ในการจ่ายค่านั่นนี่ด้วย ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องคำนึงก็คือ “เงินดาวน์” ควรเตรียมไว้ประมาณ 25 % ของราคารถที่จะซื้อ เพราะถ้ามีน้อยกว่านี้อาจจะไม่ผ่านการอนุมัติจากไฟแนนซ์หรือธนาคารได้
2. ค่างวดรายเดือน
ต่อให้ขอไฟแนนซ์หรือสินเชื่อผ่าน แต่พอมาดูค่างวดรายเดือนแล้วลมแทบจับ อันนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ควรประเมินรายรับรายจ่ายต่อเดือนให้ดีก่อน เพราะการผ่อนรถถือเป็นการผ่อนระยะยาว หากผ่อนไม่ไหวจนโดนยึดรถจะเสียประวัติเอาได้
3. ค่าน้ำมัน/ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
เรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อยู่บ่อย ๆ ส่วนค่าชาร์จรถไฟฟ้าก็ต้องดูว่าคุณสะดวกชาร์จแบบไหน ที่ไหน เพราะค่าใช้จ่ายอาจไม่เท่ากัน ยังไงก็ลองคำนวณดูว่าเดือน ๆ นึงนอกจากค่างวดแล้ว คุณจะต้องจ่ายค่าน้ำมัน/ค่าชาร์จรถประมาณกี่บาท และคุณสามารถบริหารเงินไหวไหม
(เครดิตรูปภาพ: Freepik)
4. ค่าบำรุงรักษา/ตรวจเช็กสภาพรถตามระยะและตามอายุการใช้งาน
การใช้รถไม่ใช่ว่ารอพังก่อนแล้วค่อยซ่อมทีเดียว แต่จริง ๆ แล้วจะต้องมีการตรวจเช็กสภาพรถเป็นระยะ ๆ ตามอายุการใช้งาน จะได้รู้ว่าจุดไหนถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนใหม่แล้วเพื่อความปลอดภัย เช่น
- ควรตรวจเช็กยางรถยนต์และการตั้งศูนย์ล้อ ในระยะเวลา 6 เดือน หรือทุก ๆ 5,000 กิโลเมตร
- ควรตรวจเช็กระบบจานเบรกและผ้าเบรกหน้า ในระยะเวลา 6 เดือน หรือทุก ๆ 5,000 กิโลเมตร
- ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์และไส้กรอง ในระยะเวลา 6 เดือน หรือทุก ๆ 5,000 กิโลเมตร
- ควรตรวจเช็กระบบครัช ในระยะเวลา 6 เดือน หรือทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร
- ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรก ในระยะเวลา 24 เดือน หรือทุก ๆ 40,000 กิโลเมตร
5. ค่า พ.ร.บ./ประกันภัยรถ/ภาษีรถ
พ.ร.บ. หรือประกันภัยรถภาคบังคับ เป็นสิ่งที่เจ้าของรถทุกคันต้องทำ รวมไปถึงการต่อภาษีรถด้วย และต้องดำเนินการต่ออายุทุกปี ซึ่งเท่ากับว่าจะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ดังนั้นสามารถแพลนเก็บเงินรอล่วงหน้าได้ แต่อย่าลืมไปจ่ายด้วยนะ
นอกจากนี้ เจ้าของรถบางท่านก็ซื้อประกันภัยรถภาคสมัครใจเอาไว้ด้วย ซึ่งเบี้ยประกันก็จะแตกต่างกันไป และก็ต้องชำระทุกปีเช่นกัน ต้องวางแผนการเงินให้ดีเลยถ้าต้องการความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง
(เครดิตรูปภาพ: Freepik)
6. ค่าที่จอดรถ
การขับรถไปบางสถานที่ หรือแม้กระทั่งขับรถไปทำงาน อาจเจอกับค่าที่จอดรถได้ ซึ่งบอกเลยว่าบางที่ค่าที่จอดรถก็แรงไม่เบาเลย ลองคำนวณดูว่าในแต่ละเดือนคุณมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายค่าที่จอดรถมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าส่วนใหญ่ได้จอดฟรีอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา
7. ค่าทางด่วน
ในบางเส้นทางก็ต้องพึ่งพาทางด่วนบ้างเพื่อความสะดวก แต่ก็ต้องจ่ายค่าผ่านทางประมาณนึง หากต้องผ่านหลายด่านบอกเลยว่าก็หลายตังอยู่ ถ้าต้องใช้ทางด่วนบ่อย ๆ ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดีเลยว่าไหวไหม แต่ถ้านาน ๆ ใช้ทีก็พอจะไปไหวอยู่
8. ค่าอุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม
อุปกรณ์เสริมในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงของแต่งซิ่งเสียทีเดียว (เป็นความชอบส่วนบุคคล) แต่รวมถึงอุปกรณ์ Gadget ต่าง ๆ ที่ช่วยให้การขับขี่ของคุณสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น ที่ชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย, Bluetooth, เครื่องกรองอากาศในรถ, กล้องติดรถยนต์, น้ำหอมติดรถ เป็นต้น
9. ค่าล้างรถ
ในกรณีที่คุณไม่ได้พักอาศัยในบ้านที่มีพื้นที่สำหรับล้างรถ เช่น หอพักหรือคอนโด อาจจะต้องพึ่งพาบริการคาร์แคร์แทน ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมา แต่ถ้าคุณสามารถล้างเองได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ไป
10. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ตลอดระยะเวลาในการใช้รถ แน่นอนว่าเราอาจจะต้องเจอเรื่องที่คาดคิดขึ้นมาบ้าง เช่น โดนค่าปรับจราจร, เจออุบัติเหตุต้องซ่อมรถฉุกเฉิน, ต้องเรียกรถลากจูง, ค่าเปลี่ยนยางฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งถ้าค่าใช้จ่ายรายเดือนของคุณตึงมาก ๆ หรือไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินเลย หากเกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้อาจจะแย่เอาได้
จากรายละเอียดด้านบนที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้เลยว่าการวางแผนทางการเงินล่วงหน้า และการมีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการซื้อรถ ดังนั้นไม่ควรคิดถึงแค่ราคารถที่ต้องจ่ายตอนซื้อเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งก่อนและหลังซื้อรถว่าอาจเกิดค่าใช้จ่ายอะไรขึ้นได้บ้าง แต่เราสามารถรับมือได้หรือไม่ก่อนตัดสินใจซื้อรถ